วิธีรักษาสิว : วิธีรักษาสิวผด สิวอุดตัน สิวอักเสบ

วิธีรักษาสิว: แนวทางการรักษาสิว ตามระดับความรุนแรง

ขั้นตอนแรกก่อนการเริ่มรักษาสิว (acne) คือ การประเมินระดับความรุนแรงของสิวและสภาพผิวเบื้องต้น เพื่อที่จะได้ทราบถึงปัญหาสิวที่กำลังเผชิญอยู่ว่ามีแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมอย่างไร โดยระดับความรุนแรงของสิวสามารถแบ่งตามความรุนแรงได้ดังนี้

1. ระดับความรุนแรงน้อย คือ สิวอุดตันและสิวอักเสบที่ขึ้นไม่เกิน 10 จุดบนใบหน้า โดยความรุนแรงระดับนี้สามารถรักษาสิวด้วยตัวเองได้ ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า หรือสกินแคร์ ที่เหมาะสำหรับผิว และมีส่วนผสมสำคัญที่ช่วยลดการเกิดสิว

2. ระดับความรุนแรงปานกลาง คือ สิวที่มีลักษณะบวมแดง เป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง โดยมีมากกว่า 10 จุดบนใบหน้า การรักษาสิวในระดับนี้อาจต้องเข้ารับการรักษาโดยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ได้รับคำแนะนำ และวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพราะในบางกรณีอาจมีการใช้ยาสำหรับทานเพื่อรักษาร่วมด้วย

3. ระดับความรุนแรงมาก คือ สิวที่มีลักษณะบวมแดง เป็นตุ่มหนอง ร่วมกับตุ่มแดงนูนขนาดใหญ่ทั่วใบหน้าการรักษาสิวในระดับนี้ต้องรักษาตามแบบสิวระดับความรุนแรงปานกลาง ซึ่งคือการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ผิวหนังก่อนเริ่มทำการรักษาต่อไป

การรักษาสิว

การรักษาสิว โดยทั่วไปคือการป้องกันการเกิดสิวใหม่ และลดการอักเสบของสิวเก่า ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ปัจจุบันการรักษาสิวมีให้เลือกหลากหลายวิธี ซึ่งจะเลือกใช้วิธีรักษาแบบใดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวในขณะนั้นยกตัวอย่างวิธีรักษาสิวในปัจจุบัน มีดังนี้

1. การรักษาสิวโดยการกดสิว เป็นการบีบผิวบริเวณที่เป็นสิว แล้วใช้เข็ม หรืออุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะผิวหนังให้หนอง ของเหลว หรือสิ่งที่อุดตันอยู่ภายในสิว ไหลออกมาการกดสิวจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของสิวด้วย ส่วนใหญ่การกดสิวจะได้ผลดีกับสิวอุดตัน ทั้งสิวหัวดำและสิวหัวขาว สิวที่ไม่ควรจะกดคือ สิวอักเสบ เพราะสิวชนิดนี้อยู่ลึกลงไปในชั้นผิวมากกว่าสิวชนิดอื่น ๆ ทำให้การกดสิวชนิดนี้ต้องใช้แรงกดมากกว่าการกดสิวอุดตัน จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดรอยแผล ยิ่งไปกว่านั้นหากบีบตัวหนองหัวสิวออกมาไม่หมดจะยิ่งทำให้สิวลุกลามมากกว่าเดิมลักษณะสิวที่ไม่ควรกด เช่น สิวที่ไม่เห็นหัวสิวสิวที่ภายใน, มีเลือดคั่งสิวที่เป็นตุ่มหนองขนาดใหญ่, สิวเป็นตุ่มแข็ง, สิวที่เป็นถุงน้ำสิวที่บวมปวด และสิวที่บริเวณผิวม่วงช้ำ เป็นต้น

2. การรักษาสิวโดยใช้ยาทาและยาทาน ควรเลือกให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงและประเภทของสิว ในกรณีที่เป็นสิวแบบความรุนแรงน้อย อาจพิจารณาใช้ยาทาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) หรือยาในกลุ่มเรตินอยด์ (retinoid) หากเป็นสิวที่มีความรุนแรงระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาสิวที่เหมาะสม เพราะในบางกรณีอาจมีการใช้ยาทานเพื่อรักษาร่วมด้วย ซึ่งยาทานที่นิยมใช้รักษาสิว มี 3 กลุ่มย่อย ได้แก่

– ยาต้านจุลชีพ ที่ใช้กินเพื่อรักษาการอักเสบของสิว ได้แก่ เตตราไซคลีน (tetracycline) , อีริโทรไมซิน (erythromycin) , คลินดาไมซิน (clindamycin) , แอมพิซิลลิน (ampicillin) , โคไตร- ม็อกซาโซล (cotrimoxazole) เป็นต้น เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการลดการอักเสบของสิว และช่วยป้องกันการเกิดสิวอุดตัน

– ยาฮอร์โมน เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมน – แอนโดรเจน จึงเหมาะสมเฉพาะในเพศหญิง และจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนจนกว่าจะได้ผล

– ยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เช่น ไอโซเทรทิโนอิน (isotretinoin) เป็นยาที่เหมาะสำหรับสิวอักเสบเรื้อรังและรุนแรง แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาชนิดนี้มีพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์

3. การรักษาสิวโดยการใช้เลเซอร์ คือ การรักษาสิวรูปแบบหนึ่งด้วยการใช้แสงเลเซอร์ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย P.acne (Cutibacterium acnes) ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดสิว รวมถึงช่วยกำจัดไขมันที่อุดตันในรูขุมขนให้หลุดออกไปด้วยและชนิดของเลเซอร์ที่ใช้ก็จะแตกต่างกันออกไปตามปัญหา สภาพผิว และความเหมาะสมของแต่ละบุคคลโดยเลเซอร์สิวที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น

– เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเลเซอร์ที่ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวกลาง ทำให้เกิดแสงเลเซอร์ พลังงานแสงอินฟราเรดที่ผลิตจากเครื่องเลเซอร์ สามารถทำลายเนื้อเยื่อส่วนเกินให้หลุดออกไป โดยไม่ทำให้มีเลือดออก หรือทำลายผิวบริเวณรอบข้าง การเลเซอร์สิวด้วยเลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ มักใช้รักษาสิวอุดตันที่รักษาด้วยการทายา หรือรับประทานยาแล้วไม่หาย ซึ่งเลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ จะช่วยทำลายเนื้อเยื่อ และทำลายต่อมไขมันบางส่วน ส่งผลให้สิวยุบเร็วขึ้น และป้องกันการเกิดสิวใหม่ รวมถึงลดการเกิดรอยแผลเป็นจากสิวอีกด้วย